วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

ประวัติเนื้อหาก่อนจะเป็นเกมส์detroit become human

Detroit: Become Human “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีตัวตน”

Detroit: Become Human ถือเป็นผลงานเกมลำดับที่ 5 จาก Quantic Dream ที่น่าจะถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสตูดิโอชั้นนำที่เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาเกม interactive ซึ่งเห็นได้จาก Heavy Rain หรือ Beyond Two Souls ที่ผ่านมา กลับมาในคราวนี้พวกเขาขอลองนำเสนอเรื่องราวไซไฟในโลกยุคอนาคตที่ไม่ไกลตัวพวกเรานัก พร้อมกับนำเสนอประเด็นให้ผู้เล่นได้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่าแม้จะเป็นเครื่องจักรเลียนแบบมนุษย์ก็ตาม แต่ถ้าหากเครื่องจักรนั้นสามารถรับรู้ตัวเองได้ ตัดสินใจอะไรเองได้นอกเหนือไปจากโปรแกรมที่ตั้งเอาไว้ สิ่งนั้นๆ จะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่?

เนื้อหาและการนำเสนอ

เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเนื้อเรื่องคือสิ่งที่โดดเด่นที่สุดของเกมแนว interactive ที่ไม่ใคร่จะมีระบบเกมอะไรซับซ้อนเท่าไหร่นัก และเนื้อเรื่องของเกมนี้ก็ทำได้น่าติดตามชวนให้อยากเล่นต่อเพื่อรับรู้เรื่องราวความเป็นไปของตัวละครว่าจะคลี่คลายไปในทางใด อีกทั้งเหตุผลและทางเลือกในเกมที่มีให้แก่ตัวละครทั้ง 3 ก็ล้วนทำให้ผู้เล่นสัมผัสได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้จริงและชวนให้กลับมาขบคิดอะไรหลายอย่าง
 คุณถูกออกแบบมาให้ปฏิบัติภารกิจลุล่วง หากแต่เมื่อคุณต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจคุณจะเลือกอะไร? หากคุณไม่ไล่ตามแอนดรอยด์ต้องสงสัยคุณอาจจับเขาไม่ได้อีกเลย ทว่าในขณะเดียวกันคู่หูของคุณก็ตกอยู่ในสภาวะเป็นตายเท่ากัน คุณจะเลือกอะไร? หน้าที่หรือศีลธรรม?
 คุณต้องการเรียกร้องสิทธิให้แก่แอนดรอยด์ คุณจะใช้วิธีไหน? สันติวิธีหรือโต้ตอบด้วยความรุนแรง?
หากสันติวิธีแต่พี่น้องร่วมเผ่าพันธุ์ของคุณโดนกระหน่ำยิงอย่างเลือดเย็น คุณจะยังสันติวิธีต่อไหวหรือไม่?
คุณเป็นแอนดรอยด์ที่มีหน้าที่ในการทำงานบ้านและดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน ทว่าเมื่อสถานการณ์พลิกผันให้คุณต้องคอยดูแลเด็กสาวตัวน้อยที่ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้คุณจะทำอย่างไร? ตัวคุณไม่มีเงินติดตัวแต่เด็กสาวต้องการที่พักพิงสำหรับค่ำคืนอันหนาวเหน็บ คุณจะตัดสินใจเบียดเบียนคนอื่นเพื่อให้เด็กสาวได้หลับนอนข้างไออุ่นหรือไม่?
สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างของตัวเลือกเพียงเล็กน้อยมากๆ ในเกม ที่ผู้เล่นจะต้องเผชิญไปตั้งแต่เริ่มเกมยันจบเกม เหตุการณ์ของทั้งสามตัวละครแม้จะดูไม่มีจุดเชื่อมโยงกันในทีแรก แต่ทุกอย่างจะค่อยๆ ร้อยเรียงเข้าหากันในท้ายที่สุด ซึ่งทำได้ไหลลื่นไม่มีติดขัด
นอกเหนือไปจากการดำเนินเรื่องของ 3 ตัวละครหลักข้างต้นแล้ว โลกของเกมก็มีการนำเสนอที่น่าสนใจและชวนให้ติดตามไม่แพ้กัน
ภาพลักษณ์ของเมือง Detroit ในปี 2038 ในโลกของเกมนั้น ในทีแรกสุดคุณจะได้เห็นกับเมืองอนาคตที่สีสันสดใส เต็มไปด้วยความล้ำหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส มีอาชีพการงานที่ดี มีอนาคตก้าวไกล หากแต่ในขณะเดียวกัน เกมก็จะแสดงให้เห็นอีกมุมหนึ่งอันเป็นสังคมและชุมชนที่เสื่อมโทรม ผู้คนที่หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ไม่มีเงิน ไม่มีงานและไม่มีอนาคตจนต้องหันไปพึ่งยาเสพติดไปวันๆ

ดีทรอยต์นั้นล้ำหน้า เปี่ยมไปด้วยสีสันแห่งอนาคต
ทว่าอีกด้านก็เสื่อมโทรมผุพัง ไร้อนาคต
คงกล่าวได้ว่าประเด็นนำเสนอหลายอย่างของเกม ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เราพบเห็นและได้ยินจากข่าวในปัจจุบันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องสิทธิของพลเมืองชั้นสองหรือชั้นสามที่ได้รับการตอบโต้อย่างรุนแรงจากภาครัฐ ปัญหาความเกลียดชังที่มนุษย์มีต่อแอนดรอยด์ด้วยเหตุผลที่แอนดรอยด์มาแย่งงานไปจากมนุษย์ ปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว ฯลฯ ทุกอย่างคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเพียงแค่นำมาปรุงแต่งเข้าไปด้วยความล้ำหน้าทางวิทยาศาสตร์ จึงทำให้ผู้เล่นเข้าถึงโลกในเกมได้อย่างง่ายดายและแทบไม่ต้องปรับตัวอะไรมากเลย
แม้ว่าแอนดรอยด์จะอำนวยความสะดวก แต่มนุษย์บางส่วนก็ไม่พอใจที่มาแย่งงานของตน
หากจะเทียบกันในลักษณะของภาพยนตร์ ถ้าเกม God of War ที่วางจำหน่ายไปก่อนหน้านี้เปรียบได้กับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ทุ่มทุนมหาศาลมีฉากอลังการตื่นตาตื่นใจแทบจะตลอดเวลาจนไม่อยากลุกไปเข้าห้องน้ำ เกม Detroit: Become Human นั้นก็จะเสมือน series ชุดที่แม้จะไม่ได้ใช้ทุนสร้างสูงเท่าแต่ก็มีความดึงดูดสามารถตรึงผู้เล่นให้ติดหนึบกับจอได้เหมือนกัน โดยในส่วนของไคลแมกซ์ท้ายเกมจะยิ่งทำให้คุณอยากเล่นต่อให้จบไปเลยแม้ว่าวันรุ่งขึ้นคุณต้องตื่นแต่เช้าไปทำงานก็ตามที

เกมเพลย์

สำหรับระบบการเล่นต่างๆ ของ Detroit: Become Human นั้นยังคงเป็นมาตรฐานเดิมคล้ายกับเกมก่อนหน้านี้ของ Quantic Dream นั่นคือเราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ในฉากได้อย่างจำกัดและไม่สามารถจะทำอะไรได้อิสระมากนัก จุดที่จะมีให้เราสำรวจหรือสิ่งที่มีให้เราได้นั้นจะกำหนดเอาไว้ตายตัวเพื่อให้เราไปอ่าน หรือไปทำอะไรบางอย่างที่อาจจะส่งผลต่อตัวเลือกต่อไปของเรา แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเอื่อยเฉื่อยและเดินทอดน่องได้เพราะแทบทุกฉากจะถูกจำกัดด้วยเวลาผู้เล่นจึงต้องคิดเร็วทำเร็วและตัดสินใจว่าจะเลือกสำรวจอะไร หรือจะคลี่คลายสถานการณ์ไปในทางไหน

การไล่จับแอนดรอยด์ผิดปกติกับชีวิตคู่หู คุณเลือกอะไร?
แน่นอนว่าสำหรับฉากแอ็คชั่นหรือฉากไล่ล่าก็ยังคงมีอยู่ และวิธีการเล่นในฉากเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากเกมก่อนหน้าที่เราจะต้องคอยกดปุ่มที่ปรากฏบนหน้าจอภายในเวลาที่จำกัด หากกดพลาดตัวละครเราก็อาจจะบาดเจ็บหรืออาจจะส่งผลร้ายแรงกว่านั้นเลยก็ได้
สิ่งที่ต้องชมเชยสำหรับเกมนี้ก็คือ flowchart ที่เราสามารถเลือกดูทางแยกที่มากมายหลากหลายได้ ทำให้ผู้เล่นสามารถย้อนกลับไปเล่นฉากเก่าได้ตลอดเพื่อลองเปลี่ยนตัวเลือกและดูสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม หรือบางทีเนื้อหาเบื้องหลังบางประการก็อยู่ในเส้นทางที่เราไม่ได้เลือกด้วย

ระบบตัวเลือกคำตอบและเหตุการณ์ของเกมนี้ ถือว่าทำได้ลึกซึ้งและละเอียดมาก อาจจะมากกว่าเกมที่ผ่านๆ มาของ Quantic Dream เองด้วยซ้ำ แทบทุกตัวเลือกที่คุณตอบจะส่งผลต่อความสัมพันธ์กับตัวละครลำดับรองที่คุณมีปฏิสัมพันธ์ด้วย และถ้าความสัมพันธ์กับคนๆ นั้นอยู่ในระดับสูงก็จะเป็นการปลดล็อคตัวเลือกหรือทางเลือกใหม่ๆ ในภายหลัง ยิ่งไปกว่านั้นการที่ผู้เล่นตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรก็อาจส่งผลในตอนท้ายเกมเลยก็ได้ และกว่าที่จะรู้ว่าการกระทำนั้นๆ ส่งผลอะไร บางครั้งผู้เล่นก็ลืมไปแล้วด้วยซ้ำ ตัวเลือกและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในเกมนี้จึงไม่ใช่เป็นการแค่เลือกคำตอบแค่สองหรือสามตัวเลือกในสถานการณ์นั้นๆ แต่เป็นสิ่งที่ผู้เล่นสะสมมาตั้งแต่แรกจนถึงตอนท้ายเกม เรียกได้ว่าเห็นกรรมดีหรือกรรมเลวในแบบดิจิตอลกันบนจอเลยทีเดียว
ปัญหาของเกม (และเป็นปัญหามาโดยตลอดของเกมจาก Quantic Dream) ก็คงเป็นส่วนของการบังคับตัวละครที่ค่อนข้างไม่ลื่นไหลทำให้เดินติดวัตถุบ่อยและมุมกล้องที่ค่อนข้างติดขัดและไม่ได้ดังใจเท่าที่ควร ทำให้บางทีมองสิ่งที่ต้องสำรวจไม่ค่อยจะเห็นเท่าไหร่นัก แต่ข้อนี้ก็พอที่จะมองข้ามได้บ้างเพราะตัวเกมไม่ใช่เกมแอ็คชั่นที่ต้องเน้นการเคลื่อนไหวและการควบคุมที่ตอบสนองฉับไวอะไรนัก

กราฟิก

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกมแนว interactive ของ Quantic Dream แตกต่างจากเกมแนวเดียวกันของสตูดิโออื่นๆ ก็คงไม่พ้นคุณภาพกราฟิกนี่เอง ถ้าเทียบกับเกมอย่าง The Walking Dead ของ telltale games ที่ใช้ภาพกราฟิกแบบเซลเฉดจึงได้คุณภาพออกแนวการ์ตูนมาโดยตลอดทำให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนกำลังรับชมการ์ตูนที่มีเนื้อหาสุดแสนดราม่า เกมของ Quantic Dream ก็ได้พยายามนำเสนอด้วยคุณภาพกราฟิกแบบสมจริงมาโดยตลอดจึงทำให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนกำลังรับชม series คนแสดงอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว


ไม่ว่าจะเป็นสีสันสดใสและความล้ำหน้าของดีทรอยต์ในอนาคตปี 2038 หรือความเสื่อมโทรมและหดหู่ของชุมชนที่ไร้ทางไป ไร้อนาคต เมื่อผนวกด้วยกราฟิกที่สวยงามของเกมก็ทำให้ผู้เล่นสามารถดำดิ่งลงสู่โลกของ Detroit: Become Human ได้ไม่ยากเย็น

เสียงพากย์และเพลงประกอบ

นี่คืออีกองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เกมนี้โดดเด่นขึ้นมา นักแสดงแทบทุกคนมีการแสดงสีหน้าท่าทางประกอบกับเสียงพากย์ที่ดูเป็นธรรมชาติและไม่ดูติดขัด ไม่ว่าจะ Connor ที่แรกเริ่มดูเย็นชาไร้อารมณ์สมเป็นแอนดรอยด์แต่เมื่อเกิดสงสัยในตัวเองก็เริ่มมีการแสดงสีหน้าท่าทางที่เกินกว่าเครื่องจักร Markus ที่น้ำเสียงแสดงออกถึงความห่วงใยต่อบุคคลที่ตนให้ความดูแล หรือ Kara ที่มีน้ำเสียงและท่าทีอ่อนโยนประหนึ่งคนเป็นแม่ต่อ Alice นั้น ทุกอย่างทำให้เกมมีชีวิตชีวาไม่ดูแห้งแล้งไร้จิตวิญญาณตามธรรมชาติที่ควรจะเป็นของแอนดรอยด์อย่างพวกเขาเลย

เพลงประกอบก็แต่งออกมาได้เข้ากับตัวเกมรวมถึงบุคลิกลักษณะของตัวละครด้วย หากคุณเปิดฟังเพลงประจำตัวของ Connor คุณจะสัมผัสได้ถึงอนาคตที่น่าหลงใหลและลึกลับและให้ความรู้สึกของเครื่องจักรที่ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างไร้คำถาม แต่เมื่อเป็นเพลงประจำตัวของ Markus คุณจะสัมผัสได้ถึงความเร่าร้อน ความมุ่งมั่นที่จะต้องการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเพลงประจำตัวของ Kara จะดำเนินไปอย่างเนิบช้าด้วยดนตรีรื่นหู ให้ความรู้สึกถึงความอบอุ่นและความอ่อนโยนของครอบครัว

สรุป

Detroit: Become Human ถือเป็นอีกหนึ่งงานชิ้นเอกจาก Quantic Dream ด้วยเนื้อหาที่จะตรึงคุณให้อยากเล่นต่อไปเรื่อยๆ และด้วยการนำเสนอที่ทำได้ลื่นไหลสอดคล้องกันทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกราฟิก เพลงประกอบหรือเสียงพากย์ หากคุณต้องการเกมแนว interactive ที่ให้คุณเลือกเส้นทางดำเนินเรื่องได้ด้วยตัวเอง เกมนี้จะเป็นเกมของคุณ

แม้ว่าตัวเกมจะมีข้อติในเรื่องของการบังคับตัวละครและมุมกล้องบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่หนักหนาอะไร (ถึงอย่างนั้นหลายคนที่ชินกับเกมที่รวดเร็วฉับไวก็อาจมีหัวเสียได้เหมือนกัน) สิ่งสำคัญคือ replayablitiy ของเกมนี้สูงมาก ผู้รีวิวเล่นเกมรอบแรกสุดจบไปใช้เวลาราว 10 ชั่วโมง ซึ่งหากจะเก็บทุกอย่างให้ครบหมด อาจต้องใช้เวลามากกว่านั้นสามหรือสี่เท่าเลยก็เป็นได้ และเพื่ออรรถรสอย่างเต็มที่ ขอแนะนำให้เล่นรอบแรกไปโดยไม่ต้องกลับมาแก้ไขสถานการณ์อะไรเลยจะดีกว่า

โดยส่วนตัวแล้ว ทุกวันนี้เทคโนโลยีต่างๆ ในโลกความเป็นจริงก็ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกวัน ผู้รีวิวเองก็ไม่รู้ว่าต่อไปจะมีแอนดรอยด์ที่มีสำนึกในตัวตนปรากฏตัวขึ้นมาแบบที่ในเกมนี้ตีความหรือไม่ แต่หากเวลานั้นมาถึงจริง สังคมก็คงต้องเริ่มตั้งคำถามกันอย่างจริงจังว่า “อะไรกันคือความเป็นมนุษย์?”
คะแนน 9 ⁄ 10

1 ความคิดเห็น: